Tag Archives: การพัฒนาตนเอง

“ความทุกข์ ต้องการความทุกข์เป็นอาหาร”

ความทุกข์ ต้องการความทุกข์เป็นอาหาร”

คุณสังเกตุไหม เวลาที่รู้สึกทุกข์
นอกจากคุณจะทุกข์ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว

หลายคนก็มักคิดหาเรื่องทุกข์
เพื่อเพิ่มความทุกข์ให้ตัวเองมากขึ้นไปอีก

ตอนที่คุณทุกข์
คุณมักจะคิดถึงเรื่องแย่ๆ ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้
คุณมักจะคิดถึงเรื่องแย่ๆ ในอดีตที่ไม่ได้คิดนานแล้ว

บางคร้งก็ประชดตัวเอง
ทำตัวเองแย่ๆ กินอาหารแย่ๆ ทำนิสัยแย่ๆ
ทั้งกับตัวเอง และคนรอบข้าง

ตอกย้ำตัวเองให้ยิ่งเจ็บ ยิ่งเศร้า ยิ่งทุกข์เข้าไปอีก

มีตอนหนึ่งในหนังสือ “The Power of Now”
ได้พูดเปรียบเทียบว่า

ตัวทุกข์ เหมือนมีชีวิต
และก็ต้องการมีชีวิตรอดบนโลกเหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป

มันอยู่ได้ด้วยการครอบงำคุณ สถิตในตัวคุณ
และก็ได้รับอาหาร ผ่านตัวคุณ

โดยอาหารของตัวทุกข์ก็คือ ความทุกข์นั่นเอง

ทุกข์อยู่ได้ด้วยตัวทุกข์

มันจะบังคับและเรียกร้องให้คุณไปหาอาหารให้มัน!

ทั้งที่ในใจบางครั้งคุณก็รู้ว่าคุณไม่อยากทุกข์แล้ว
แต่คุณก็หยุดไม่ได้ เพราะมันครอบงำคุณอยู่
มันหิว มันเรียกร้อง

คุณจะเริ่มลงมือทำสิ่งที่ผิด
คุณจะอยากสร้างความเจ็บปวด
และที่สำคัญคุณจะไม่รู้ตัว

คุณจะอ้างว่าฉันไม่อยากทุกข์แล้ว
แต่พฤติกรรมกลับตรงกันข้าม

สิ่งที่จะตัดวงจรทุกข์นี้ได้
อย่างแรกคุณต้องตั้งสติรู้ตัว
และบอกตัวเองว่า
มีแต่คนเสียสติเท่านั้นล่ะ
ที่ทำร้ายตัวเอง ทำให้ตัวเองทุกข์และเจ็บปวด

มี 3 วิธีที่จะแนะนำให้คุณเริ่มต้นตัดวงจรทุกข์คือ

1. คุณต้องเลิกให้อาหารมัน เลิกสร้างความทุกข์เพิ่มอีก

2. ป้อนความสุขและความเบิกบานใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มันไม่ชอบ

3. อยู่กับปัจจุบัน แท้จริงแล้วที่คุณยังเจ็บปวด
เพราะคุณคิดถึงอดีตกับอนาคตมากเกินไป
ยึดมั่นกับอดีตและกังวลอนาคตมากเกินไป

หากคุณพิจารณาดีๆ ในปัจจุบันขณะ ขณะที่คุณกำลังหายใจ
คุณแทบไม่มีความเจ็บปวด
ปัจจุบันสร้างความเจ็บปวดให้คุณได้น้อยมาก
คุณทุกข์จากในความคิดถึงอดีตกับอนาคตของคุณ
ให้คุณตัดวงจรเวลาออกไป แล้วอยู่กับปัจจุบัน

คิดและทำ 3 อย่างที่แนะนำข้างต้นนี้วนอยู่เรื่อยไป
สิ่งนี้จะช่วยทำลายความทุกข์จากใจคุณไปได้

จงจำไว้ว่า
ไม่มีอะไรที่สร้างความทุกข์ ได้รุนแรงเท่ากับ ความคิดของคุณ
และความคิดของคุณ ก็มีอำนาจมากที่สุด ในการทำลายความทุกข์นั้น

ขอให้ทุกคนที่กำลังพบกับความทุกข์อยู่ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม
ผมอยากให้ความเชื่อมั่นว่า
คุณมีอำนาจและพลังมากพอ
ที่ออกจากความทุกข์นั้นได้โดยเร็วครับ

ผมเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ

การยอมรับว่าเราก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์

“การยอมรับว่าเราก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ คือความกล้าหาญอย่างหนึ่ง”

การแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ มันจะง่ายขึ้นมากถ้าหากใครคนหนึ่ง หรือทั้งคู่ ยอมรับว่าตัวเองก็มีส่วนในปัญหาความสัมพันธ์

คุณอาจคิดว่าคุณไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่คุณก็มีส่วนที่ทำให้ปัญหาบานปลาย มาถึงจุดที่รู้สึกว่า ฉันเองรู้สึกไม่มีความสุขกับความสัมพันธ์นี้

ปัญหาความสัมพันธ์ ไม่ใช่เกิดจากแค่ “การกระทำ” แต่เกิดจากการ “โต้ตอบการกระทำ” ในแต่ละครั้งด้วย

การกระทำเหมือนกัน แต่โต้ตอบต่างกัน ก็ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน

และปัญหาความสัมพันธ์มักเกิดจากการสะสมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนสะสมเป็นปัญหาใหญ่ และบานปลาย จากการโต้ตอบที่ไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจ และการร่วมมือกัน

ความสัมพันธ์ เป้าหมายไม่ใช่การหาว่าใครทำถูกต้องกว่าใคร แต่เป้าหมายควรจะเป็นว่าทำอย่างไร เราถึงอยู่กันแบบมีความสุข เกิดเป็นความรักที่ดี ที่ทุกคนปรารถนา

แต่หลายคน กลับเลือกที่จะเป็นฝ่ายถูกก่อนที่จะมีความสุข

คาดหวังว่า ฉันทำสิ่งที่ถูกอยู่ คุณต้องเข้าใจ คุณดูแลความรู้สึกเองนะ

เธอทำผิด เธอสมควรโดนด่า และไปแก้ไขเสียนะ เธอต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นนะ

ทำแบบนี้คำว่า “คู่ชีวิต” ก็ไม่มีความหมายและไม่จำเป็นอะไร และแบบนี้ ก็ไม่เกิดความรัก ที่ปรารถนา

ความรัก คือ ความต้องการด้านอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เพื่อความรัก ทำให้เราขึ้นเขาลงห้วย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เผชิญกับความยากลำบากนับไม่ถ้วนได้

แต่หากไร้ความรัก เพียงเนินเขาเล็กๆ ก็ดูสูงชันเกินไป หรือเพียงแค่ลืมตาตื่นขึ้นมา ก็ยังไม่อยากจะตื่นเลย

ฉะนั้น ถ้าคุณต้องการเห็นคุณค่าของรักที่ดี ที่สามารถมอบความสุขพื้นฐานและพลังใจอันมหัศจรรย์ของมนุษย์นี้

คุณต้องเลิกโทษว่าเพราะใคร คุณเริ่มก่อนได้เลยครับ ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูยากสำหรับคุณ

แต่คนที่กล้าหาญกับเรื่องนี้ จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจนเรื่องความกล้าหาญแค่นี้เป็นเรื่องเล็กไปเลยครับ

เป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ต้องการจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นนะครับ

“คู่รักต้องเรียนรู้ที่จะบอกเล่าความไม่พอใจ ในแบบที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจกัน ไม่ใช่การ…

“คู่รักต้องเรียนรู้ที่จะบอกเล่าความไม่พอใจ ในแบบที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจกัน
ไม่ใช่การตำหนิติเตียน และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่”

1 สิ่งสำคัญ ที่คู่รักต้องเรียนรู้และพัฒนา เพื่อให้รักกันอย่างมีความสุข

ต่างฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะบอกเล่าความไม่พอใจ หรือความรู้สึกไม่สบายใจ
ในแบบที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจกัน
ไม่ใช่การตำหนิติเตียน และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่

แน่นอนว่าการอยู่ด้วยกัน คบกัน ต้องมีเรื่องกระทบกระทั่ง ไม่พอใจ ไม่เข้าใจการกระทำของอีกฝ่าย

หลายคนอาจมองว่าทางออกมีเพียง 2 วิธี
คือ เก็บความรู้สึก และ พูดต่อว่า

ซึ่งทั้ง 2 วิธีนั้น มีแต่สร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ 

เพราะวิธีแรก การเก็บความรู้สึก
ปัญหาที่เจอจะไม่ได้ถูกแก้ไข
ยิ่งเก็บนานก็ยิ่งทุกข์ จนสุดท้าย
ก็จะมาเลือกวิธีที่ 2 อยู่ดี
และมักจะมีการใช้อารมณ์รุนแรง ยากที่จะควบคุม

หรือถ้าเลือกวิธีพูดต่อว่า
เราอาจแค่ได้ระบายความรู้สึก
แต่ไม่ช่วยให้อีกฝ่าย อยากที่ร่วมมือแก้ปัญหา
ด้วยพื้นฐานทางจิตวิทยามนุษย์ที่ไม่มีใครชอบถูกต่อว่า
โดยเฉพาะกับคนที่รัก และต้องอยู่ด้วยกันตลอด

** เพราะฉะนั้นหากมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน
ให้ “ฝึก” บอกเล่าความรู้สึกไม่พอใจและไม่เข้าใจ
ให้อีกฝ่ายได้รับรู้
ด้วยเจตนาว่า ฉันอยากให้เราเข้าใจกัน
ไม่ใช่เพราะอยากแค่ระบายอารมณ์
หรือต้องการให้เธอรู้สึกแย่**

 หลายครั้งเราอาจพบว่า
ความไม่พอใจต่างๆ ที่เราคิด
อีกฝ่ายก็ไม่ได้มีเจตนารุนแรงเท่าที่เราคิด
แต่เหตุที่ไม่เข้าใจกัน ที่พบบ่อยคือ
เราต่างมีสะสมประสบการณ์ชีวิตมาแตกต่างกัน
ทำให้มีมุมมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกัน
ทำให้ทั้งคู่คิดไม่เหมือนกัน และไม่เข้าใจกัน

แต่เราก็ต่างรู้ว่า เรามีเหตุผลและความรู้สึกมากมายที่จะรักกัน
ฉะนั้นการฝึกที่จะพูดคุยแบบนี้
จะเป็นการฝึกฝน พัฒนา เพื่อให้ความสัมพันธ์เติบโต
และก่อเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
ซึ่งเป็นพื้นฐานความสุขหนึ่งในชีวิตคู่ ที่หลายคนปรารถนาครับ

“อย่าให้คำว่า การแต่งงาน มาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จนลืมไปว่าเหตุใดคุณถึงรักกัน”

อย่าให้คำว่า การแต่งงาน มาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จนลืมไปว่าเหตุใดคุณถึงรักกัน

มีคู่รักบางคู่พอแต่งงานไปแล้ว
พยายามที่จะปรับรูปแบบการใช้ชีวิต หรือนิสัยของคู่รักตามอุดมคติ

ซึ่งอุดมคติของบางคน จะแสดงออกจากที่แต่งงานแล้ว

ในทางจิตวิทยาคนเรามีแนวโน้มเลียนแบบพฤติกรรม
การแสดงความรักแบบพ่อแม่ของเรา ที่เรารับรู้ในวัยเด็ก โดยที่ไม่รู้ตัว

จนทำให้เผลอที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงคนรักเรา หลังแต่งงาน
เพื่อให้เหมือนกับที่เราเคยรับรู้ หรือฝังใจมา

ทั้งที่นิสัยหรือการกระทำนั้นของคู่รัก เราก็รับรู้มาก่อนแล้ว
และไม่เคยมีปัญหากันมาก่อน

เมื่อเราพยายามปรับเปลี่ยนคู่รักของเรา หลังแต่งงาน
จนเหมือนลืมไปว่า เราก็เคยชอบกันมาแบบนี้ ยอมรับนิสัยกันมาแบบนี้
จึงทำให้ยากที่จะเกิดความเข้าใจ และเกิดปัญหาได้

แต่การปรับเปลี่ยนก็สามารถเกิดขึ้นได้
ถ้าเกิดจากการร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย
เห็นประโยชน์ร่วมกัน และอยากทำด้วยความสมัครใจ

ฉะนั้นคู่รักใดที่ยังไม่แต่งงาน
ก็อยากให้ทำความเข้าใจกันให้ดีว่า
อย่าให้คำว่า “แต่งงาน” มาเป็นคำพูด ที่บังคับให้อีกฝ่าย
ต้องทำอะไร โดยที่ไม่สมัครใจ
ตกลงกันให้ดี พูดคุยกันให้ดี
และระมัดระวังอิทธิพลการเลียนแบบใครโดยที่ไม่รู้ตัว

หรือใครที่แต่งไปแล้ว และรู้สึกว่าเกิดปัญหาไปแล้ว
ก็ลองทบทวนดูให้ดีว่า สิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนนี้
เกิดจากอิทธิพลจากใครมาหรือไม่

และหากเป็นสิ่งที่ต้องการปรับ เป็นสิ่งที่ดี ที่จำเป็นต้องปรับจริงๆ
ก็ควรสื่อสารกับคู่รักอย่างให้เกียรติ ให้เวลาในการปรับตัว
และให้เค้าเห็นประโยชน์ร่วมกัน ที่จะตกลงทำด้วยความสมัครใจ

ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการสร้างรักที่ดี และสามารถเติบโตอย่างยืนยาวได้

อย่างที่เคยบอกไว้ในคลิปหนึ่งว่า “รักแท้” เกิดจากความตั้งใจ
ไม่ใช่สัญชาติญาณครับ